วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2561

แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามแนวปฎิรูปการศึกษา

แนวคิดในการปฏิรูปการเรียนรู้

การปฏิรูปการเรียนรู้  ได้มีผู้เสนอแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้  ดังนี้
           รุ่ง  แก้วแดง  นักการศึกษาที่มีความสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา  ได้นำเสนอแนวคิดในการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้  5  ประการ  กล่าวคือ
          1.       ให้สถานศึกษาและชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการวางแผน  กำหนดนโยบาย กำหนดเป้าหมาย  จัดทำหลักสูตร  โดยเฉพาะหลักสูตรท้องถิ่น  กำกับดูแล  ควบคุมตรวจสอบคุณภาพ  และสนับสนุนทรัพยากรในด้านภูมิปัญญา  องค์ความรู้  การเงิน  เพื่อให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
          2.       การระดมความร่วมมือภาคเอกชนเพื่อจัดการศึกษาด้านอาชีพโดยอาศัยความร่วมมือจากสถานประกอบการ
          3.       การปรับรื้อระบบอุดมศึกษาให้เน้นหนักการสอน  การวิจัย  และการบริการแบบอิสระเบ็ดเสร็จมากขึ้น
          4.       ตรวจสอบและประกันคุณภาพการศึกษา
          5.       การระดมทรัพยากรและสรรพกำลัง

         สิปนนท์  เกตุทัต  (2545  :  18-19)  กล่าวถึงหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา  คือ
1.       ด้านบุคคล  ซึ่งทุกคนมีสิทธิและโอกาสที่มีคุณภาพเสมอกันตลอดชีวิต
2.       ด้านรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ให้รู้วิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม
3.       ด้านทรัพยากร  การจัดการศึกษาต้องกว้างขวางทั่วถึงและเป็นธรรม
         
          เกษม  วัฒนชัย  (2545  :  18-20)  กล่าวว่าการเรียนรู้คือหัวใจของการปฏิรูป มุ่งเน้นกระบวนการปลูกฝัง  ถ่ายทอด  ฝึกอบรม  ให้เกิดความรู้  เจตคติ  ความเข้าใจ  ความเชื่อศรัทธา  ระบบคุณค่า  ระบบคุณธรรม  การควบคุมและการดูแลตนเอง  ทักษะและการทำงานให้แก่ผู้เรียน  เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผผู้เรียน  ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้  ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด  สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง  มุ่งเสริมสร้างแหล่งเรียนรู้  เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง  (ศูนย์ปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษา.  2544  :  80)

เสกสรร  แย้มพินิจ  (ออนไลน์)  ได้เสนอแนวคิดในการปฏิรูปการเรียนรู้  ไว้  3 
ประการ  ดังนี้
1.       ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบในการจัดการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ  ทั้งภาครัฐและเอกชน  ชุมชน  พ่อแม่  ผู้ปกครอง  ครู  และโรงเรียน
2.       รัฐและส่วนกลางต้องกระจายอำนาจลงสู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่นให้เป็นผู้ตัดสินใจตามภารกิจและความรับผิดชอบ
3.       ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้มั่นใจแน่ใจเชื่อใจได้ว่ามีคุณภาพในการจัดการเรียนรู้

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้เสนอแนวคิดในการปฏิรูปการเรียนรู้  ดังนี้
         1.       ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ผู้เรียนส่วนใหญ่มีจุดอ่อนในด้านทักษะการคิด ทักษะการค้นคว้า  รวมทั้งความรู้พื้นฐาน  5  สาระหลัก  สถานศึกษาต้องประเมินผู้เรียนอย่างหลากหลายไม่ใช่เฉพาะการทดสอบเพียงอย่างเดียว  และพบว่าครูต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมในด้านความรู้และแนวทางปฏิบัติในการวัดผลประเมินผลผู้เรียนมากขึ้น
         2.       ระดับอุดมศึกษา  การดำเนินการปฏิรูปการศึกษา  มีการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรให้หลากหลาย  เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง  คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เปลี่ยนไป จากการนำเสนอแนวคิดในการปฏิรูปการเรียนรู้ทุกท่านที่กล่าวมาข้างต้น 
          สรุปได้ว่า  หน่วยงาน  หรือบุคคลที่จะต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเรียนรู้  สรุปได้ดังนี้
        1.       รัฐบาล  ต้องให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณและอัตรากำลังให้กับสถานศึกษาอย่างเพียงพอ  ต้องกระจายอำนาจลงสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น  เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผล
         2.       ภาคเอกชน  ต้องมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรเพื่อให้การพัฒนาคุณภาพและช่วยเหลือผู้เรียนในด้านต่าง ๆ อย่างทันท่วงที
          3.       สถานศึกษา  ต้องมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้เป็นไปตามนโยบาย เป้าหมาย  เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข
          4.       ชุมชน  ต้องสนับสนุนส่งเสริมด้านทรัพยากร  เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตคุณภาพการศึกษาต้องสามารถตรวจสอบได้  มีการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งจากองค์กรภายในและองค์กรภายนอกที่น่าเชื่อถือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น