การปฏิรูปการศึกษาไทย
หากจะกล่าวถึงเรื่องการศึกษาไทยในปัจจุบัน
ประเด็นที่จะอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป
ทั้งในแวดวงการศึกษาและวงการด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ก็คงจะเป็นประเด็นของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติคืออะไร? สมควรที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญอย่างไร
เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร? และจะมีผลกระทบต่อชาวไทยทุกคนในแง่ไหน?
ปัญหาของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทยนั้น
อันที่จริงก็สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการศึกษา
เพราะถ้าหากการจัดการศึกษาสามารถนำเอาความรู้และเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และถ้าหากการศึกษาสามารถพัฒนาทักษะ ฝีมือ ความรู้
ความชำนาญการของแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
และหากการศึกษาสามารถสร้างผู้นำรุ่นใหม่ได้จริง
และสร้างความรู้พื้นฐานทางประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้
เราก็คงจะได้ผู้นำทางการเมืองที่มีประสบการณ์ความรู้ในการบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล คงจะไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจดังที่ประสบอยู่
และแม้ว่าจะต้องประสบปัญหานี้ตามธรรมชาติของวงจรเศรษฐกิจ
แต่ก็คงไม่ถึงเข้าขั้นโคม่าดังที่เป็นอยู่
วิกฤติการณ์ในสังคมไทยจึงเป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากระบบการเมืองที่มีปัญหาเรื้อรังและระบบการศึกษาที่เข้าขั้นทุพพลภาพ
จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระยะยาวได้จำเป็นต้องผ่าตัดระบบการศึกษา
จะปฏิรูปการเมืองได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ก็จะต้องปฏิรูปการศึกษาควบคู่กันไปด้วย
การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเป้าหมายหลักของการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้อันที่จริงหากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว
ประเทศชั้นนำหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาด้านการศึกษา
และมีความต้องการการปฏิรูปด้วยกันทั้งนั้น ประเทศที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่อยู่แล้ว
เช่น สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหา ประเทศที่เคยเป็นผู้นำทางความคิด เป็นนักวิทยาศาสตร์
นักประดิษฐ์ชั้นนำของโลก เช่น อังกฤษก็มีปัญหา
ประเทศนี้จึงได้มีแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างขนานใหญ่
สหรัฐอเมริกาเริ่มกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 1980 อังกฤษก็เริ่มมีการปฏิรูปสมัยนางมากาเร็ต แท็ตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในทศวรรษที่ 1980 เช่นกัน สำหรับประเทศไทยพูดถึงการปฏิรูปตั้งแต่สมัยหลังเหตุการณ์
14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 แต่กระแสอ่อนล้าไปหลัง พ.ศ. 2521 และเพิ่งมาเริ่มเกิดกระแสอีกครั้งหนึ่งในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา
ฉบับที่ 8 ประมาณ พ.ศ. 2536-37
และขบวนการดังกล่าวก็มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาพื้นฐานถึง 12 ปี ให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (มาตรา 43) และการกำหนดให้มีกฎหมายการศึกษาและแนวทางการจัดการศึกษาในมาตรา
81
ฉะนั้นการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาให้เป็นกฎหมายแม่บทตามมาตรา 81 ของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรที่จะต้องคำนึงถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลักการปฏิรูปการศึกษามีความหมายอย่างไร? ทำไมต้องปฏิรูปการศึกษา
การปฏิรูปการศึกษามีผลกระทบต่อชาวไทยอย่างไร? และพระราชบัญญัติการศึกษาจะมีบทบาทอย่างไรในการปฏิรูปการศึกษา
ความหมายของการปฏิรูป
การปฏิรูปการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีความหมายลึกซึ้งกว้างไกล
หากเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติวิสัยเราก็ไม่เรียกการเปลี่ยนแปลงนั้นว่า
"การปฏิรูป" และในทางกลับกันหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปด้วยความรุนแรง
ใช้ลำหักลำโค่นกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าเราก็เรียกการเปลี่ยนแปลงนั้นว่า
"การปฏิวัติ" "การปฏิรูป"
จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนทั้งระบบ
แต่เปลี่ยนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือกระทบในทางเสียหายน้อยที่สุดเป็นวิถีทางของอารยชน
เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากการใช้พละกำลังและความรุนแรงคำถามที่จะต้องถามในเบื้องต้นก็คือ
ทำไมจะต้องปฏิรูปการศึกษา? และจะปฏิรูปในเรื่องอะไรกัน? คำตอบเบื้องต้น ก็คือ
ปัญหาทางการศึกษามีมากมายทับถมกันมานาน แก้ไม่ได้ด้วยวิธีการปกติ
จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบและเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้ปฏิบัติและผู้นำทางการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ถูกต้อง
ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษา
ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาอาจมีหลายประการ
แต่ที่สำคัญ ควรกล่าวถึงในอันดับแรกๆ น่าจะมี ดังนี้ 1.
ปัญหาด้านคุณภาพ ปัญหาด้านคุณภาพมีความหมายกว้างขวาง
อาจอภิปรายได้ไม่มีวันจบ สมัยประธานาธิบดีเรแกนของสหรัฐอเมริกา
ก็ได้ตีพิมพ์รายงานทางการศึกษา ชื่อ "ชาติในภาวะการเสี่ยงอันตราย" (A
Nation At Risk) กล่าวถึงความด้อยคุณภาพทางการศึกษาของชาติอเมริกา
ยกตัวอย่างความล้าหลังด้านมาตรฐานการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ฉะนั้นเมื่อประธานาธิบดี
เรแกนริเริ่มให้มีการปฏิรูปการศึกษาเป้าหมายจึงอยู่ที่การยกมาตรฐานและคุณภาพของการเรียนการสอน
โดยเฉพาะด้านวิชาการสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ
ทั่วโลกในสังคมไทยก็เช่นกัน
เมื่อพูดถึงคุณภาพทางการศึกษาก็อาจหมายถึงคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาการต่างๆ
ทุกระดับ
และจะมีการอ้างอิงผลของการประเมินระดับนานาชาติว่ามาตรฐานการเรียนการสอนของไทยในวิชาคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ เช่น
ผลของการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของไทยในโครงการทิมส์ (TIMSS) ของสมาคมนานาชาติว่าด้วยการประเมินผลทางการศึกษา
กล่าวว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ในขณะที่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้
และญี่ปุ่น อยู่ที่อันดับ 1 , 2 และ 3
ตามลำดับ แต่บกพร่องอยู่ตรงไหน
ก็ได้คำตอบว่าจุดบกพร่องอยู่ที่การสอนที่ไม่เน้นการคิดโดยอิสระของผู้เรียน
คือสอนในกรอบของความรู้ที่ปรากฎตามตัวอักษรของตำรา
มิได้สอนให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสูตรสำเร็จเหล่านั้น
และหลักความจริงที่นำมาเป็นฐานของข้อสรุปคำว่า "คุณภาพและมาตรฐาน"
ในแนวดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นคุณภาพมาตรฐานแห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ
แต่ก็ยังมีแนวคิดด้านคุณภาพที่แตกต่างออกไปเช่นกัน
เป็นต้นว่าแนวคิดที่จะให้ปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับปัญหาของชีวิตจริง
สอดรับกับสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน ได้แก่ ความเป็นท้องถิ่น ฯลฯ ในแนวทางนี้จึงได้มีการพูดกันมากถึงการกระจายบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่นให้แก่สถานศึกษา
และหน่วยงานรับผิดชอบระดับล่าง
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีแนวคิดเรื่องคุณภาพการศึกษาว่าจะต้องดูที่ตัวมนุษย์ทั้งหมดที่เป็นผลผลิตทางการศึกษาว่ามีคุณภาพอย่างไร
สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยแล้วช่วยตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้หรือไม่?
เป็นผู้นำที่ดีหรือไม่? เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพหรือไม่?โดยสรุป เมื่อกล่าวถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ความหมายจึงครอบคลุมหลายๆ
มิติของคุณภาพ การที่จะกำหนดปรัชญา แนวทางหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่างๆ
จึงต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ของคุณภาพที่อยู่ในความห่วงใยของสังคมดังกล่าว
2. ปัญหาความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ปัญหาสำคัญที่ปรากฎในทุกแผนพัฒนาการศึกษาอีกปัญหาหนึ่งก็คือ
ปัญหาของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคใหม่
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่
สังคมไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกที่ยังขาดกฎเกณฑ์ใหม่ในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและการเมือง
สังคมไทยจะถอยไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็คงสายไปแล้ว และคงทำไม่ได้
แต่จะอยู่ในสังคมโลกอย่างไรโดยมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
แต่ไม่ว่าจุดยืนในทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจของเราจะอยู่ตรงไหน
เราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไปไม่ได้ว่าเราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และบุคลากรด้านนี้ให้เพียงพอต่อการปรับระบบการผลิตของเราให้ทันสมัย
สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
โดยพิจารณาจากศักยภาพของเราด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของเราเอง
ฉะนั้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างทักษะความรู้ของชาวไทยให้สอดรับกับการงานและอาชีพในสังคมยุดใหม่จึงมีความสำคัญในอับดับต้นๆ
การทุ่มเทให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตในทุกๆ
สาขาอาชีพจึงมีความสำคัญมากแต่ในปัจจุบันและหลายปีมาแล้ว
เราก็ยังคงขาดนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี ขาดครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์
ขาดผลงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรม ระบบการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง
ขาดความเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานและภาคปฏิบัติ
จำเป็นต้องปรับทั้งระบบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
จะต้องวางแผนการจัดอุดมศึกษาหรือการศึกษาระดับหลังขั้นการศึกษาพื้นฐานให้เป็นระบบที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ
อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม และต้องส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจด้วย
3. ปัญหาของการกระจายโอกาสและความเสมอภาคของโอกาสทางการศึกษา
ประเด็นเรื่องนี้เป็นประเด็นด้านความชอบธรรมทางสังคมที่กลไกของระบบกากรเศรษฐกิจแบบเสรี
มักจะมีแนวโน้มช่วย ให้ผู้เข้มแข็ง ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า
ช่วยให้คนที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบด้านกิจการการศึกษา และด้านอื่นๆ
มากกว่าผู้ยากไร้และขาดปัจจัยด้านการเงิน แต่สังคมที่มีความมั่งคั่งไปกระจุกตัวที่คนบางกลุ่ม
และก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากเกินไป
มักจะเป็นสังคมที่ขาดเสถียรภาพทางด้านการเมือง ขาดพื้นฐานของสามัคคีธรรม
และจะนำไปสู่การแตกแยกและความระส่ำระสายในที่สุด ฉะนั้นในนโยบายของการเฉลี่ยรายได้
ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆ นอกจากจะเฉลี่ยความผาสุก
ความร่มเย็นให้แก่คนทั้งชาติ และเป็นความชอบธรรมทางการเมืองแล้ว
ยังเป็นนโยบายหลักของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และความเป็นเอกภาพของชาติ
มาตรการการเฉลี่ยรายได้นี้ไม่มีมาตรการใดที่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับมาตรการของการกระจายโอกาสทางการศึกษา
ให้แก่กลุ่มคนที่มีฐานะยากลำบากทางเศรษฐกิจ
นโยบายเรื่องความเสมอภาคของโอกาสสำหรับกลุ่มคนจนชนบท จากชนชั้นเกษตรและแรงงาน
กลุ่มคนพิการ ฯลฯ
จึงเป็นนโยบายที่สำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งการจะดำเนินนโยบายนี้ให้ได้สำเร็จจะต้องมีวิธีการวางแผน
และจัดสรรงบประมาณโดยยึดพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เช่น
ต้องเตรียมงบประมาณให้พื้นที่ที่ยากจนมากเป็นพิเศษ
ต้องจัดระบบการศึกษาให้มีทางเลือกได้หลายๆ ทางและเชื่อมโยงกัน
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พลาดโอกาสได้สามารถเข้ามาใช้โอกาสได้ตลอดชีวิต ที่สำคัญหากจะให้โอกาสแก่ทุกคนจริงจำเป็นต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน
12 ปี ถึงมัธยม ศึกษาตอนปลายให้แก่คนทุกคนในสังคมไทย
เพราะการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ
ระดับวิชาชีพชั้นสูง และด้านอาชีวศึกษาระดับสูง
และเป็นพื้นฐานของการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต
4. ปัญหาของประสิทธิภาพของระบบและกระบวนการจัดการบริหารการศึกษา
ประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการเป็นประเด็นปัญหาที่ทับถมมานาน
หากระบบการบริหารการจัดการมีประสิทธิภาพ ปัญหาอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วก็คงได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง
แต่เพราะระบบการบริหารการจัดการมีปัญหาหมักหมมมานานปี
ก็จำเป็นต้องสังคายนากันทั้งระบบ ปัญหาดังกล่าวมี
4.1
ประการแรกที่ควรพิจารณาในเบื้องต้นก็คือ
ข้อแตกต่างระหว่างการบริหารการศึกษากับการบริหารราชการ
แม้ว่าจะมีส่วนที่เหมือนกันในการจัดระบบเป็นกรม กอง ฝ่าย
ในการทำหน้าที่บริหารระดับบน แต่ในสายสัมพันธ์กับสถานศึกษาควรมีข้อแตกต่าง
เพราะการบริหารสถานศึกษา (โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย) นั้น
ต้องการองค์ประกอบเหล่านี้
ก) ระบบบริหารภายในสถานศึกษาแบบแนวราบ
(Flat
organization) ยกเว้นอาจารย์ใหญ่แล้ว ควรมีผู้บังคับบัญชาน้อยที่สุด
ต้องบริหารงานแบบครูทุกคนมีส่วนร่วมเป็นประชาธิปไตย
ข)
ระบบการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพที่เน้นผลิตผล คือ ตัวนักเรียนไม่ยึดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์
และการควบคุมขั้นตอนของกระบวนการเหมือนระบบราชการ ค)
ระบบความรับผิดชอบต่อชุมชนมากกว่าความรับผิดชอบต่อสายบังคับบัญชาเบื้องบสถาบันการศึกษานั้นก็คือ
สถาบันทางสังคม ต้องแนบแน่นกับชุมชน และให้เกิดความรู้สึกของความเป็นเจ้าของจากพ่อแม่ผู้ปกครองและศิษย์เก่าข้อผิดพลาดในอดีตก็คือ
การเหมาเอาว่าครูทุกคนคือข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามระเบียกฎเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือน
แม้แต่การปูนบำเหน็จความดีความชอบก็ใช้หลักการเดียวกัน เพิ่งจะได้มีการปรับระบบการบริหารบุคคลปี
พ.ศ. 2523 ที่แยกเกณฑ์การพิจารณาบุคลากรครูแยกต่างหากจากพลเรือน
แต่ถึกระนั้นก็ยังมีข้อผูกพันที่ต้องยึดโยงอยู่กับระบบซีของข้าราชการพลเรือน
การปรับระบบการบริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูจึงควรคำนึงถึงความจำเป็นของข้อแตกต่าง
ดังที่กล่าวไว้แล้ว
4.2
การจัดระบบการบริหารระดับกระทรวงแบ่งแยกภารกิจไม่เหมาะสมปัจจุบัน
กรมส่วนใหญ่มีความเบ็ดเสร็จในตัวเอง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการวางแผน
จัดสรรงบประมาณ นิเทศ ประเมินผล บริหารบุคคล ก่อสร้างอาคารสถานที่
กล่าวอย่างคร่าวๆ แต่ละกรมก็คือกระทรวงเล็กๆ นั่นเอง กระทรวงตามกฎหมายจึงมิใช่กระทรวงที่แท้จริง
แต่เป็นที่รวบรวมของกระทรวงเล็กๆ นี่คือปัญหาที่ต้องมีการปรับแก้ไข
โดยจัดภารกิจของแต่ละกรมใหม่ ให้เกิดเอกภาพทางนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณ
4.3
การจัดระบบการบริหารสับสนระหว่างบทบาทผู้กำหนดนโยบายแผนงานงบประมาณ และกำกับเวทีที่เรียกว่า
"Steering" ผู้กุมบังเหียนหรือนายท้ายคัดหางเสือกับบทบาทของการลงมือปฏิบัติที่เรียกว่า
"Rowing" หรือผู้แจว
ผู้พายปัจจุบันเราไม่ทราบว่าใครคือผู้กุมบังเหียน ใครคือผู้ปฏิบัติ
เพราะผู้ปฏิบัติและผู้กุมบังเหียนคือคนๆ เดียวกัน แต่ละกรมส่วนกลางทำทั้งสองหน้าที่
คือออกแบบเอง วางนโยบายเอง และนำนโยบายไปลงมือปฏิบัติเอง
ผลก็คือไม่สามารถทราบได้ว่าตนทำสำเร็จหรือล้มเหลว
และเนื่องจากนำงานปฏิบัติมาทำเต็มตัว ปัญหาภาคปฏิบัติก็มาสุมอยู่ที่กรม
ทุกปัญหาต้องเดินทางกลับมารับการแก้ไขที่กรม ไม่สามารถตัดตอนได้เด็ดขาด ไม้ว่าจะได้มีการมอบอำนาจกันไปบ้างแล้วอนาคต
จึงควรที่จะกำหนดให้ส่วนกลางมีภารกิจหลักในด้านการกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ
กำหนดมาตรฐาน ประเมินมาตรฐานที่เรียกว่า "Steering" คือ ถือบังเหียนและกำกับทิศทาง และกำหนดให้องค์กรในพื้นที่ เช่น
จังหวัดมีภารกิจในด้านการปฏิบัติการคือนำนโยบายของกระทรวงไปสู่ภาคปฏิบัติ
และหากมีปัญหาด้านการบริหารก็ควรให้จบเบ็ดเสร็จลงที่จังหวัด เป็นต้น
4.4
การจัดระบบบริหารระดับอุดมศึกษาขาดเอกภาพ
และความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาพื้นฐานกับระดับอุดมศึกษาปัญหาปัจจุบันคือมี 2 หน่วยงานหลักรับผิดชอบการศึกษาอุดมศึกษา คือ ทบวงมหาวิทยาลัย
และกระทรวงศึกษาธิการ การนำเอาทบวงมารวมกับกระทรวง
โดยไม่ปรับระบบการบริหารของกระทรวงก่อนคงไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากปรับตามแนวข้อ 4.3 และปลดปล่อยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอิสระ
บทบาทของกระทรวงในการกำกับสถาบันอุดมศึกษาก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป
ฉะนั้นจึงสมควรพิจารณา
การสร้างเอกภาพขององค์กร นโยบาย และกำกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา
โดยจัดไว้ภายในกำกับของกระทรวงเดียวกันทั้ง 4 ประการนั้น คือ
ปัญหาหลักของระบบการบริหารการศึกษาในปัจจุบันที่ต้องการการสังคายนา
5.
ปัญหาของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
ปัญหาของข้อนี้มิได้มีลักษณะเดียวกับข้ออื่นๆ
แต่เป็นประเด็นของการใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาแก่ประชาชน
ในบริบทของสังคมข่าวสาร และการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร
ควรจะปรับระบบตรงนี้ให้เกิดระบบการศึกษาตลอดชีวิตได้
และประกอบกับความจำเป็นของสังคมแบบใหม่ที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจำเป็นต้องใช้
การศึกษาเป็นเครื่องมือปรับความสามารถและทักษะของมนุษย์ให้สามารถเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ
และแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ได้ เช่น ปัญหาของวิกฤติการณ์การเงินการคลัง
การเศรษฐกิจในปัจจุบัน และผลกระทบ โดยเฉพาะด้านอาชีพการงาน เป็นต้น
ประเด็นของการปรับระบบให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต
จึงเป็นประเด็นหลักของการปฏิรูปการศึกษา
6.
ปัญหาของการระดมสรรพกำลังเพื่อการศึกษา
ปัญหานี้สัมพันธ์กับการศึกษาตลอดชีวิต
หากจะให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิตได้ก็จำเป็นที่ทุกๆ
ส่วนของสังคมต้องตระหนักในภาระหน้าที่ทางการศึกษาของตน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว
ชุมชน องค์กรวิชาชีพ องค์กรการกุศล สถาบันศาสนา สำนักงาน บริษัทห้างร้านและเอกชน สื่อสารมวลชน
สถาบันการเมือง ทุกๆ ส่วนในสังคมล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรทางการศึกษา
สามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะด้านการจ่ายภาษีอากร ประเด็นคือ
จะจัดระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในสังคมอย่างไร
และจะสร้างความตระหนักให้แก่สถาบันต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา
และการเมืองอย่างไร ให้มาเล่นบทบาทของการจัดการศึกษาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น
กำหนดให้พรรคการเมืองจัดสรรเงินส่วนหนึ่ง เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน เป็นต้น
โดยสรุป
ปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นปัญหาหลักในเชิงระบบ แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกัน
เช่น ปัญหาการฝึกอบรมครู การพัฒนาครู และการปฏิบัติงานของครู
ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาการศึกษาของเอกชน
ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการบริหารและการระดมสรรพกำลังจากภาคเอกชน
ปัญหาการศึกษาของสงฆ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษา
ปฏิรูป คือ การเปลี่ยนทั้งระบบ
หรือให้เบาลงมาหน่อย คือ เปลี่ยนเชิงระบบ
ถามว่าระบบการศึกษาดังกล่าวมาแล้วควรเปลี่ยนทั้งระบบหรือไม่?
ท่านอาจจะถามต่อไปว่าเปลี่ยนทั้งระบบหมายความว่าอย่างไร? คำตอบง่ายๆ ก็คือ อยู่ที่ความเข้าใจของแต่ละบุคคลว่า
ระบบควรรวมถึงอะไรบ้าง? ฉะนั้นหากตีประเด็นกันไปเรื่อยๆ
ก็คงไม่มีวันจบ
จึงควรถามคำถามในใจตนว่าเท่าที่ท่านตระหนักหรือมีประสบการณ์มีอะไรดีอยู่แล้วบ้าง
อะไรไม่ดีบ้างและควรขจัดไปในระบบการศึกษา
ท่านก็คงตอบคำถามนี้ได้ในประสบการณ์ของท่าน
แต่เท่าที่ผู้เขียนได้นำปัญหามาชี้แจงก็พอจะคาดคะเนได้ว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ก็คือสิ่งที่เป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น